การทำความสะอาดรถกับบ้านไหนที่มีใช้งานถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ทวีความรุนแรงเรื่อย ๆ เช่นนี้ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและลูก ๆ ซึ่งหากคุณมีความต้องการอยากล้างทำความสะอาดแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ไม่ต้องกังวลไปเพราะเรามี 8 เทคนิคมาบอกต่อ รับรองว่าได้รถเหมือนใหม่ ลูก ๆ ปลอดภัย
เผื่อว่าคุณพ่อคนใดที่ไม่อยากเอารถไปให้ร้านล้าง อยากล้างเองลดความเสี่ยงโควิด – 19 ด้วย ประหยัดเงินด้วย แถมเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูก ๆ เราก็มีเทคนิคการล้างทำความสะอาดรถมาให้ทำตามง่าย ๆ ได้แก่
1. เตรียมพร้อมอุปกรณ์ล้างให้ครบถ้วน
สำหรับอุปกรณ์ล้างทำความสะอาดถือเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมให้ครบถ้วน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแวะเดินไปหา ไปหยิบมาอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งเสียเวลาการล้างรถไปใหญ่ แนะนำว่าให้เตรียมแชมพู/สบู่ล้างรถ โฟมทำความสะอาดเบาะ ฟองน้ำ ถุงมือ ผ้าปิดจมูก สายยางฉีดน้ำ ภาชนะใส่น้ำ (เอาไว้ชุบฟองน้ำมาเช็ด) ผ้าขนหนูสะอาดเอาไว้เช็ดซับน้ำ
2. เริ่มต้นล้างภายนอกรถก่อน
หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดรถมาเพียบพร้อมแล้ว เริ่มต้นเลยคือการล้างภายนอกรถก่อน ให้ผสมแชมพูล้างรถกับน้ำในปริมาณที่เหมาะสม แล้วตีจนเกิดฟอง จากนั้นให้ชุบฟองน้ำกับแชมพูล้างรถแล้วเอามาถู ๆ เช็ด ๆ ให้รอบรถ ทุกซอกทุกมุม เอาคราบหรือสิ่งสกปรกที่อาจติดอยู่ในรถให้ออกไป ส่วนที่ต้องเน้นเป็นพิเศษที่บริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ได้แก่ กระจกทั้ง 2 ข้าง ที่จับประตู ฝาปิดถังน้ำมัน กระโปรงหน้ารถ – ท้ายรถ ส่วนอื่น ๆ ให้ล้างเป็นปกติ
3. ทำความสะอาดเบาะแบบหนัง
ใครที่อยากทำความสะอาดเบาะรถยนต์ชนิดหนังที่ดูเหมือนจะง่าย และสกปรกได้ยาก จริง ๆ แล้วคุณพ่อควรเช็ดถูด้วยผ้าสะอาดทุกวันหลังใช้งาน เพราะอาจมีคราบเหลือง ๆ บางจุดเกิดขึ้นด้วย ซึ่งหากเราใช้ผ้ามาเช็ดแล้วรู้สึกว่าเบาะหมองให้ใช้โฟมเช็ดเบาะ หรือแชมพู/สบู่ผสมน้ำมาเช็ดทำความสะอาดด้วยฟองน้ำให้เรียบร้อย และเมื่อเช็ดเสร็จแล้วให้ใช้ผ้ามาเช็ดให้แห้งแล้วทิ้งไว้สักพัก พร้อมบำรุงผิวเบาะด้วยครีมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือจะใช้เป็นเบบี้ออยล์ก็ได้เช่นกันเพิ่มความชุ่มชื้นไม่ทำให้เบาะแห้งแข็ง
4. ทำความสะอาดเบาะแบบผ้า
เผื่อว่าใครมีเบาะแบบผ้าเราก็มีวิธีการทำความสะอาดเบาะรถยนต์แบบผ้ามาแนะนำด้วยเช่นกัน โดยพื้นฐานแล้วเบาะแบบผ้าจะสกปรกง่าย และเป็นที่กักเก็บฝุ่นละออง รวมถึงคราบต่าง ๆ ได้มากกว่าแบบหนัง กรณีที่เบาะเลอะเบา ๆ มีคาบเล็กน้อย แนะนำให้ใช้แปรงสีฟันเก่า ๆ ขนนิ่มมาขัดตรงจุดที่เปื้อน เมื่อคราบเริ่มจางให้นำทิชชูไปซับตามด้วยโรยแป้งเพื่อเป็นการดูดเอาของเหลวออกไป ไม่เกิดการจับตัวเป็นก้อน หลังจากแห้งดีก็เช็ดด้วยผ้าขนหนู พร้อมใช้เครื่องดูดฝุ่นมาดูดกำจัด แต่ถ้าคราบไม่ออกจริง ๆ แนะนำให้เอาน้ำสบู่มาเช็ด กรณีที่เป็นคราบหนักอย่าง คราบน้ำอัดลม กาแฟ รอยหมึก รอยปากกา ให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดโดยเฉพาะสำหรับเบาะผ้าดีที่สุด ขจัดคราบฝังแน่น
5. อย่าลืมทำความสะอาดจุดเสี่ยงในรถ
หากคุณพ่อทำความสะอาดรถบริเวณเบาะไปแล้ว ก็อย่าลืมจัดการในส่วนที่เป็นจุดเสี่ยงอื่น ๆ ของรถด้วย ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่คุณพ่อต้องสัมผัสอยู่บ่อย ๆ เช่น พวงมาลัย หัวเกียร์ ที่จับประตูช่องแอร์ หน้ากากแอร์ แผงควบคุมของรถ เข็มขัดนิรภัย คอนโซล เบรกมือ พรม ไปจนถึงกุญแจรถยนต์ ฯลฯ เพราะในรถเป็นสถานที่ปิดที่การไหลเวียนของอากาศเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้เกิดเชื้อโรคและไวรัสได้ง่าย เสี่ยงติดได้สูง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ภูมิต้านทานน้อย
6. ระวังการใช้สารเคมีกับรถ
หลาย ๆ คนอาจจะเลือกใช้เป็นน้ำยาทำความสะอาดรถที่เข้าข่ายมีฤทธิ์รุนแรงคล้ายสารเคมี เพราะมีโอกาสที่จะไปกัดกร่อนทำให้วัสดุหรือพื้นผิวในรถเสียหายได้ เกิดรอยด่าง หรือเสื่อมสภาพได้ไวในที่สุด อย่างที่บอกว่าเวลาจะเช็ดให้ใช้เป็นแชมพู สบู่ หรือโฟมทำความสะอาดฉีดพ่นดีที่สุด นอกจากนี้จะใช้แผ่นทำความสะอาดแอลกอฮอล์ร่วมด้วยก็ย่อมได้ กระนั้นอย่าฉีดพ่นเปียกชุ่ม เสี่ยงระบบไฟฟ้าพังเสียหาย
7. ใช้ผ้าแห้งเช็ดใหม่ทั้งคันอีกครั้ง
หลังจากที่ใช้แชมพู สบู่ หรืออะไรก็ตามเช็ดทำความสะอาดรถไปแล้ว เมื่อเช็ดเสร็จก็ควรใช้ผ้าแห้งที่สะอาดมาเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อยด้วย ไม่ทิ้งคราบกวนใจ แนะนำเช็ดไปทิศทางเดียวกัน
8. ฉีดพ่นฆ่าเชื้อไปด้วย
ปัจจุบันมีหลายบริษัทออกน้ำยาทำความสะอาดชนิดฉีดพ่นฆ่าเชื้อได้อย่างมีมาตรฐาน จึงอยากแนะนำให้คุณพ่อซื้อมาฉีดพ่นหลังทำความสะอาดเสร็จ เพื่อความปลอดภัยของลูก ๆ
หลังจากได้ศึกษาการทำความสะอาดรถทั้ง 8 เทคนิคเหล่านี้แล้ว คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ เชื่อว่าคุณพ่อจะสามารถล้างรถได้อย่างราบรื่น จัดการสิ่งสกปรกในรถ นอกรถเต็มประสิทธิภาพ หมดห่วงปัญหาด้านสุขภาพของลูกด้วย ของตนเองด้วย ที่สำคัญหมั่นล้างเป็นประจำเหมือนได้รถใหม่เรื่อย ๆ ขับไปไหนก็มีแต่ความมั่นใจ
ติดตาม Papa Expert ได้ที่
Website - papaexpert.com
Blockdit - blockdit.com/papaexpert
Facebook - facebook.com/daipa.papa
Instagram - instagram.com/daipa_papa/